กรม สบส. ส่ง อสม.เคาะประตูบ้านสกัด “โรคพิษสุนัขบ้า” ในชุมชน

                กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ขานรับพระปณิธานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ส่ง อสม. เคาะประตูบ้าน สแกนหาคนเสี่ยง สกัดโรคพิษสุนัขบ้าในชุมชนให้หมดไปจากประเทศไทย เน้นย้ำทุกชุมชนใช้มาตรการ 5 ย. อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก
อย่าหยิบ และอย่ายุ่ง เพื่อความปลอดภัยจากการถูกกัดและเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า

นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการประชุมหารือร่วมกับเลขานุการโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรม สบส.ขานรับนโยบายดังกล่าว โดยให้ อสม. ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ “เคาะประตูบ้าน” ออกให้ความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้า วิธีการป้องกัน และการปฏิบัติตัวเบื้องต้นเมื่อถูกสุนัขหรือแมวกัดแก่ประชาชน เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และหยุดการระบาด
ของโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ด้วย 1)หากพบสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว วัว ควาย เป็นต้น
เมื่อมีอาการผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์โดยเร่งด่วน โดยเฉพาะพื้นที่ที่เกิดการระบาด 2)การให้ความสำคัญ
ในการติดตามผู้ที่สัมผัสโรคสามารถขอรับบริการหลังสัมผัสโรค ภายในเวลาไม่เกิน 1 ปี และรับวัคซีนอย่างต่อเนื่อง
ตรงตามกำหนดนัด คือวันแรกที่รับวัคซีน วันที่ 3 ,7 ,14 ,30 นับจากวันแรกที่ได้รับการฉีดวัคซีน เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงในระดับที่ป้องกันโรคได้ 3)การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนนำสัตว์เลี้ยงไปขึ้นทะเบียนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และฉีดวัคซีนป้องกันโรคเป็นประจำทุกปี 4)ปฏิบัติการตามมาตรการ 5 ย. คือ ย 1. อย่าแหย่สุนัขให้โมโห ย 2. อย่าเหยียบหาง หัว ตัว ขาหรือทำให้สุนัขตกใจ ย 3. อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า ย 4. อย่าหยิบจานข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะสุนัขกำลังกินอาหาร และ ย 5. อย่ายุ่งหรือเข้าใกล้สุนัขที่ไม่รู้จักหรือไม่มีเจ้าของ
5) หากถูกกัดให้รีบล้างแผลให้เร็วที่สุดด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง เช็ดแผลให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน หากไม่มีอาจใช้แอลกอฮอล์70% หรือทิงเจอร์ไอโอดีน หรือยาฆ่าเชื้ออื่นๆ 6) พบแพทย์ เพื่อรับการป้องกันรักษาที่ถูกต้องถ้ามีความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้าแพทย์จะทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และ6.) ต้องจดจำลักษณะ และสังเกตอาการสัตว์ที่กัดอย่างน้อย 10 วัน รวมทั้งติดตามที่มาสืบหาเจ้าของเพื่อซักถามประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากพบสัตว์เสียชีวิตให้รีบแจ้งสำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือจังหวัดใกล้บ้าน เพื่อส่งตรวจหาเชื้อโรคต่อไป

นอกจากนี้แล้ว อสม. สามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร และสื่อความรู้ด้านสุขภาพผ่านทางแอพพลิเคชั่น Smart อสม. เว็บไซต์ อสม.com รวมทั้ง Official Line@ Smart อสม. ในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้อย่างถูกต้อง สามารถพึ่งตนเองได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *