“อดีตรองโฆษกปชป.” หนุนยื่น ป.ป.ช. ฟัน “รมว.ดิจิทัลฯ” ปล่อยศูนย์ต้านเฟคนิวส์ บิดเบือนข่าว

“เชาว์” หนุน “ศรีสุวรรณ” ยื่น ป.ป.ช. ฟัน “พุทธิพงษ์” ปล่อยศูนย์ต้านเฟคนิวส์ บิดเบือนข่าว อสม.พิษณุโลกทวงค่าเบี้ยเลี้ยง ยกสามกรณีมั่วข้อมูล ทำขาดความน่าเชื่อถือ ชี้ ต้านข่าวปลอมแต่มั่วข่าวเอง สะท้อนทำงานสอบตก แนะ รมว.ดิจิทัล ทบทวนบทบาท ใช้ศูนย์ต้านเฟคนิวส์ เพื่อ ปชช.ไม่ใช้เป็นเครื่องมือฟอกตัวให้รัฐบาล

นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ Facebook Chao Meekhuad เรื่อง”ศูนย์ต้านเฟคนิวส์ ต้องน่าเชื่อถือเพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อการฟอกตัวของรัฐบาล”
มีเนื้อหาระบุว่า ศูนย์ต้านข่าวปลอมหรือ Anti-Fake News Center Thailand ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เจ้ากระทรวง เป็นผู้ผลักดันให้เกิดขึ้น ตกเป็นข่าวอื้อฉาวหลายครั้งในการให้ข้อมูลมั่วเสียเอง ทั้ง ๆ ที่เป็นศูนย์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้ข่าวจริงกับประชาชน ต้องปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ แต่ที่ผ่านมาอย่างน้อยสามครั้งแล้วที่เกิดปัญหา ไล่มาตั้งแต่การนำอินโฟกราฟฟิกของเพจไบโอไทยไปตัดต่อกรณีบริโภคผักไฮโดรโปนิกส์เสี่ยงเป็นมะเร็ง กรณีพบโรคอุบัติใหม่ในไทยกาฬโรคม้า ทำม้าตายเฉียบพลัน ก็บอกเป็นข่าวปลอมทั้งที่เป็นเรื่องจริง ล่าสุดคือกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา จะไปยื่นเรื่องร้องเรียนป.ป.ช.ให้ดำเนินคดีกับนายพุทธิพงษ์ เพราะศูนย์นี้บิดเบือนข่าว อสม.พิษณุโลก บุกศาลากลางจังหวัดเพื่อยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ทวงเบี้ยเลี้ยงหลังได้รับเงินค่าตอบแทนไม่ครบตามจำนวน 240 บาท โดยได้รับเพียงแค่ 120 บาทเท่านั้น ด้วยการระบุว่าข่าวนี้เป็นข่าวบิดเบือน ทั้งที่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง โดยส่วนตัวจึงเห็นว่าตลอดการทำงานกว่าหกเดือนที่ผ่านมาของศูนย์นี้สอบตก เพราะศูนย์ต้านข่าวปลอมต้องไม่เป็นผู้ปล่อยข่าวปลอมเสียเอง เกิดความผิดพลาดเมื่อไหร่ นั่นหมายถึงความล้มเหลวในการทำงานที่ไม่สามารถแก้ไขง่าย ๆ เพียงแค่คำขอโทษ เพราะก่อนโพสต์ทุกกรณีต้องผ่านการกลั่นกรองอย่างรอบคอบ มีการตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบด้านแล้วก่อนที่จะเผยแพร่สู่สาธารณะ

นายเชาว์ ระบุด้วยว่า อยากให้มีการทบทวนการทำงานของศูนย์ต่อต้านเฟคนิวส์ ซึ่งเดิมนายพุทธิพงษ์ ประกาศหลักการทำงานได้ 7 ข้อ คือ 1. ความเที่ยงธรรมและความปราศจากอคติในการคัดเลือกข่าว 2. ความเป็นส่วนบุคคลกับสิทธิเสรีภาพของการนำเสนอข่าว 3. การขัดกันด้านผลประโยชน์ และผลประโยชน์ทับซ้อนไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง 4. ให้ความเป็นธรรมแก่ฝ่ายที่ถูกพาดพิงและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเท่าเทียมกัน 5. สามารถอธิบายกระบวนการพิสูจน์ การตรวจสอบแหล่งที่มาของบทความและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ได้ 6. มีความรู้เกี่ยวกับข่าวนั้น ๆ ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงในด้านต่าง ๆ ได้อย่างเปิดเผย ซื่อสัตย์ โปร่งใส และเป็นหน่วยงานที่อิสระ ไม่ขึ้นต่ออิทธิพลของหน่วยงานหรือองค์กรใด แต่ตลอดการปฏิบัติหน้าที่ของศูนย์ดังกล่าว กลับมุ่งเน้นเลือกข่าวที่เป็นลบกับรัฐบาลมาแก้ว่าเป็นข่าวปลอม โดยปราศจากการตรวจสอบอย่างมืออาชีพ จึงเป็นเหตุให้เกิดอาการปืนลั่น เหมือนกรณีกาฬโรคม้า และ อสม.พิษณุโลกทวงคืนเบี้ยเลี้ยง

“รมว.ดิจิทัล ต้องท่องให้ขึ้นใจว่า ทรัพยากรของรัฐ หน่วยงานที่ตั้งขึ้นมา ต้องใช้เพื่อประโยชน์ของรัฐคือประเทศชาติและประชาชน ไม่ใช่ตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มบุคคลในรัฐบาล เพราะพวกท่านทำหน้าที่เข้มแข็งมากเวลาจัดการกับคนที่เห็นต่างกับรัฐบาล แต่เรื่องที่เป็นประโยชน์กับประชาชน การให้ข้อมูลที่ถูกต้องแบบเป็นธรรม กลับละเลยไป จนทำให้กิดความผิดพลาดหลายครั้ง ผมจึงเห็นด้วยที่นายศรีสุวรรณออกมาจัดการยื่นเรื่องให้ป.ป.ช.เอาผิดกับการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบ เพราะจะช่วยกระตุ้นให้ศูนย์ต้านเฟคนิวส์ทำงานอย่างมืออาชีพ ไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือฟอกตัวให้รัฐบาล”อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุทิ้งท้าย
///////////

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *