การ Joint Mission by IUU Hunter ตรวจประมงกว่า ๑๐,๐๐๐ ลำ ก่อนออกใบอนุญาต เน้นความปลอดภัย อาชีวอนามัย ให้แรงงานประมง
จากกรณีที่ประเทศไทยได้ถูกลดอันดับการรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์จากทางการสหรัฐฯ ลงเป็นอันดับประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) โดยมีข้อสังเกตในเรื่องการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างจริงจังในทุกภาคส่วน ปัญหาการบังคับใช้แรงงานและแรงงานข้ามชาติซึ่งเกิดขึ้นในหลายอุตสาหกรรมรวมถึงภาคการประมง เกี่ยวกับปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายตามที่ทราบแล้วนั้น จากกรณีดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และการบังคับใช้แรงงานในภาคการประมง โดยมี พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบควบคุมเฝ้าระวังการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้แต่งตั้งชุดปฏิบัติการตรวจสอบและเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการประมง เพื่อการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวและประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในการนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. จึงได้สั่งการให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ/ผู้อำนวยการ ศพดส.ตร. และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ/รองผู้อำนวยการ ศพดส.ตร./รองประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) โดยเร่งด่วน
เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่ท่าเทียบเรือองค์การสะพานปลาสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมง IUU เป็นประธานในการเปิดปฏิบัติการการตรวจเครื่องมือประมงแบบบูรณาการ เพื่อประกอบการออกใบอนุญาตประมงพาณิชย์ รอบปีพ.ศ. ๒๕๖๕ – ๒๕๖๗ โดยมีหน่วยงานเข้าร่วมประกอบด้วย กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ศูนย์รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้กำหนดให้เรือประมงพาณิชย์ที่จะออกทำการประมงต้องมีใบอนุญาตจากกรมประมง คราวละ ๒ ปี นับตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน – ๓๑ มีนาคม ของแต่ละรอบ โดยได้ปฏิบัติสืบเนื่องกันมา ๓ ครั้งแล้ว ได้แก่ ช่วงปี ๒๕๕๙ – ๒๕๖๑ ช่วงปี ๒๕๖๑ – ๒๕๖๓ และช่วงปี ๒๕๖๓ – ๒๕๖๕ โดยที่ใบอนุญาตทำการประมงกำลังจะสิ้นสุดอายุลงในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๕ เจ้าของเรือประมงพาณิชย์จึงต้องยื่นขอใบอนุญาตรอบใหม่ (๒๕๖๕ – ๒๕๖๗) ซึ่งกรมประมงจะต้องออกใบอนุญาตให้ภายในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๕
ในการยื่นขอใบอนุญาตทำการประมงดังกล่าว ปกติกรมประมงจะดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานเครื่องมือประมงและจัดเก็บข้อมูลเรือประมงทุกลำ แต่ยังมีข้อมูลบางประการที่ต้องการความรู้ ความชำนาญ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มาร่วมเติมเต็มให้ระบบตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมง ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นในการขอรับใบอนุญาตทำการประมงของเรือประมงพาณิชย์ครั้งนี้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ฯ จึงได้ประสานงานให้บูรณาการการตรวจเรือประมงพาณิชย์จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งระบบ ครบวงจร โดยกรมประมงรับผิดชอบการตรวจมาตรฐานเครื่องมือประมง กรมเจ้าท่ารับผิดชอบการตรวจ อัตลักษณ์เรือประมง และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานรับผิดชอบการตรวจเรือประมงเพื่อส่งเสริมให้แรงงานบนเรือประมงมีสภาพการทำงานที่สอดคล้องตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ยิ่งไปกว่านั้น พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. ยังได้จัดชุดปฏิบัติการจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือหน่วย “IUU Hunter” เข้าร่วมการตรวจเรือประมงในครั้งนี้ด้วย เพื่อยกระดับการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (Monitoring Control and Surveillance : MCS) ให้การประมงไทย ปราศจากการประมง IUU ปราศจากแรงงานบังคับ ปราศจากการค้ามนุษย์ อย่างแท้จริง โดยดำเนินการตรวจเรือประมงพาณิชย์กว่า ๑๐,๐๐๐ ลำ ที่จะขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม ๒๕๖๕ นี้ ซึ่งพี่น้องชาวเรือประมงพาณิชย์ทุกท่านสามารถนัดหมายเข้าทำการตรวจได้ที่ ศูนย์แจ้งเข้าออกเรือประมง (PIPO) หรือสำนักงานประมงจังหวัดทุกแห่ง
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ฯ กล่าวว่า “การบูรณาการตรวจเรือประมงทั้งระบบครั้งนี้ เป็นปฏิบัติการยกระดับประสิทธิภาพการตรวจสอบ ติดตาม และเฝ้าระวังการทำประมง (MCS) ของประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่บทบาท “ผู้นำการต่อต้านประมง IUU ในภูมิภาคอาเซียน” นอกจากนั้นยังเป็นการขับเคลื่อนให้เห็นถึงความพยายามของประเทศไทยอย่างเต็มที่ ในการบังคับใช้กฎหมาย ปรับปรุงระบบการทำงาน เพิ่มพูนความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ และประสานความร่วมมือจากพี่น้องชาวประมง เพื่อเลื่อนอันดับการค้ามนุษย์จาก Tier 2 Watchlist เป็น Tier 2” “โดยผมได้จัดกำลังชุดปฏิบัติการ IUU Hunter จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวนกว่า ๑๐๐ นาย เข้าร่วมปฏิบัติการตรวจครั้งนี้ด้วย เจ้าหน้าที่ชุด IUU Hunter จะลงพื้นที่ทุกจุดตรวจใน ๒๒ จังหวัดชายทะเล ร่วมกับกรมประมง กรมเจ้าท่า และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และจากการที่ผมกำลังรื้อฟื้นการสืบสวนสอบสวน ทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับกรณีลูกเรือประมงตกน้ำสูญหาย ๒๓๑ ราย ในรอบ ๒ ปี ซึ่งเป็นที่จับตามองของภาคประชาสังคม เพื่อทำความกระจ่างให้เกิดขึ้นกับเหตุการณ์ความสูญเสียที่ผ่านมา ครั้งนี้ผมจึงได้จัดให้มีการตรวจดังกล่าว เพื่อส่งเสริมมาตรฐานความปลอดภัย และอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานบนเรือประมง ขึ้นเป็นครั้งแรกของภูมิภาคอาเซียน เพื่อแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจของประเทศไทยที่จะแก้ไขปัญหา และกำหนดมาตรการส่งเสริม ป้องกัน มิให้เกิดเหตุขึ้นต่อไปในอนาคต แต่หากมีเหตุเกิดขึ้น การบังคับใช้กฎหมายจะมีความเป็นระบบ ชัดเจน สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งเพิ่มความรวดเร็วในการเยียวยาความเสียหายให้กับครอบครัวหรือญาติมิตร ในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งผมมั่นใจว่านี่คือการทำงานตามมาตรฐานสากล” “ในการตรวจครั้งนี้ ท่านนายกรัฐมนตรี ท่านรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในฐานะประธานกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ทุกคน อำนวยความสะดวก ให้กับพี่น้องชาวประมง ดำเนินการตรวจให้รวดเร็ว คล่องแคล่ว ว่องไว เรือที่ผ่านการตรวจจะได้รับเครื่องหมายติดไว้บริเวณหน้าเก๋ง เป็นสัญลักษณ์ว่า เรือประมงลำนี้มีความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะทำการประมงอย่างยั่งยืน สามารถเข้าถึงนโยบายการสนับสนุนต่าง ๆ จากภาครัฐที่จะมีขึ้นต่อไปในอนาคต”
ในการนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอความร่วมมือพี่น้องสื่อมวลชน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบถึงการดำเนินการเกี่ยวกับการขอเข้าตรวจเรือประมง หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดในภาคการประมง สามารถแจ้งข้อมูลมายัง ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) โดยตรง ช่องทางสายด่วน 1599 หรือ www.humantrafficking.police.go.th หรือ ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/TICAC2016 หรือ LineOA: @HUMANTRAFFICKTH หรือ TWITTER: @safe_dek หรือช่องทางใหม่ล่าสุดคือ การสแกน QRCODE เพื่อกรอกแบบฟอร์มในการแจ้งเหตุและเบาะแสการกระทำผิดดังกล่าวเพื่อแจ้งเบาะแสในการปราบปรามการกระทำผิดต่อไป
ข้อมูลภาพ
ทีมประชาสัมพันธ์
กองสารนิเทศ (ตร.)
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ