โรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา จัดฝึกอบรมติวเข็มการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้เพื่อบ่มเพาะอุปนิสัยอยู่อย่างพอเพียง
เมื่อวานนี้ (8 พ.ย.63) ณ ห้องประชุมเทคโนโลยีการศึกษา โรงเรียนเกาะแต้วพิทยาสรรค์ ต.เกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา จัดให้มีการฝึกอบรมการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ เพื่อบ่มเพาะอุนิสัยอยู่อย่างพอเพียงขึ้น นางสาวมัสกะห์ เจะแม็ง ผู้อำนวยการโรงเรียนอบจ.สงขลาพิทยานุสรณ์ ครู บุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (ร.ร.เกาะแต้วพิทยาสรรค์,ร.ร.อบจ.สงขลาพิทยานุสรณ์) เข้าร่วมอบรมกว่า 70 คน โดยมีนางฐิติรัตน์ ปุยริพันธ์ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างลักษณะนิสัย ในการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของผู้เรียนให้มีทักษะในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง มีความรู้ความเข้าใจและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้สนับสนุนให้โรงเรียนสังกัดกรมปกครองท้องถิ่นเข้าร่วมโครงการ”โรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น”ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา โดยโรงเรียนสังกัดอบจ.สงขลาได้ผ่านกระบวนการดังกล่าวมาแล้ว การอบรมครั้งนี้เพื่อยกระดับที่สูงขึ้นเป็น”สถานศึกษาพอเพียง”
การอบรมดังกล่าว กำหนดไว้ 2 วัน (8 – 9 พ.ย.) ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ การจับคู่กันเขียนแผน การนำเสนอแผนหน้าห้อง ฯลฯ โดยมุ่งเน้นให้เกิดการปฏิบัติเป็นรูปธรรมอย่างถูกต้องและชัดเจน
นางฐิติรัตน์ ปุยริพันธ์ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดปัตตานีกล่าวว่า การจัดทำหน่วยการเรียนรู้และแผนการจัดการเรียนรู้ฯ มีส่วนสำคัญในการเน้นกิจกรรมการเรียนรู้ ส่งเสริม ปลูกฝัง วิธการคิดและเสริมสร้างอุปนิสัยความพอเพียง โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงใน 3 หลักการคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีบนพื้นฐานการใช้คุณธรรมนำความรู้
“หลักการดังกล่าวรวมถึงความซื่อสัตย์สุจริต ขยัน อดทน ความเพียร ความมีน้ำใจ การใฃ้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต และการใช้ความรู้ทางหลักวิชาการอย่างรอบรู้ รอบคอบ เพื่อการนำไปสู่การพัฒนาตนให้ชีวิตก้าวหน้าไปพร้อมกับความสมดุลและพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงใน 4 มิติ ได้แก่ ด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม”
ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษกล่าวว่า แผนการจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนหรือผู้เรียนได้ฝึกใช้หลักการเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมี 2 เงื่อนไขคือเงื่อนไขความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม และ 3 หลักการคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี
“จาก 2 เงื่อนไข 3 หลักการดังกล่าว จะส่งผลให้การดำเนินชีวิตเกิดความสมดุลและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงใน 4 มิติ ประการแรกคือเกิดจำสำนึกให้ผู้เรียนรู้จักใช้วัตถุสิ่งของ เงินทอง หรือทรัพยากรได้อย่างประหยัดคุ้มค่า ประการที่ 2 คือเกิดการอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยความซื่อสัตย์เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ประการที่ 3 เกิดความภูมิใจเห็นคุณค่าร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรม ค่านิยมในท้องถิ่น และประการสุดท้ายคือเกิดจิตสำนึกมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม”
นายณัฐพล เจะสารี หัวหน้าบริหารฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า เป็นการเติมเต็มความรู้ในเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ยังได้เขียนแผนการสอนรายวิชา โดยมีการบูรณาการการเรียนการสอนพอเพียงร่วมกันทุกวิชาทุกกลุ่มสาระวิชา เมื่อโรงเรียนมีความพร้อมก็จะมีคณะกรรมการจากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเข้ามาประเมิน หากผลการประเมินผ่านโรงเรียนก็จะเช้าสู่”สถานศึกษาพอเพียง”ต่อไป
Photo : Report : Kasem Limaphan
WWW.Facebook.com/เกษม ลิมะพันธุ์
สมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย